ภัยที่เกิดขึ้นกับแฟลชไดร์ฟโดยรวมๆคือ แฟลชไดร์ฟสูญหาย แฟลชไดร์ฟเสียหายเพราะโดนไวรัส การถูกดูข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อมูลในแฟลชไดร์ฟสูญหาย วิธีแก้ไขคือ
1. เก็บไว้ใกล้ตัว-ไม่ต้องกลัวหาย
นับวันแฟลชไดรฟ์จะมีขนาดเล็กลง หายง่ายมาก (ถูกขโมยก็ง่ายด้วย) มีไม่น้อยที่มักจะหลงลืมไว้ตามที่ต่างๆ เวลาหยิบออกมาวาง หรือแม้แต่ติดไปกับเครื่องคอมพ์ชาวบ้านเพราะลืมขอคืน บางคนชอบคล้องไว้กับกุญแจ ซึ่งเป็นของที่ชอบทำหายอันดับต้นๆ
วิธีน่าสนใจที่สุดคือ เลือกรุ่นที่มีสายคล้องคอไว้ แม้จะดูไม่สวยงามเท่าไร แต่มันลดโอกาสทำหาย และถูกขโมยได้เกือบ 100% อีกนิดนึง ควรเลือกรุ่นที่สายต่ออยู่กับตัวแฟลชไดรฟ์ หลีกเลี่ยงการเลือกใช้รุ่นที่สายคล้องคอผูกกับฝาครอบนะครับ
2. ระวังไวรัส
ต้องถือเป็นข้อควรระวังในการใช้งานแฟลชไดรฟ์อันดับต้นๆ เพราะโดยพื้นฐานแล้วแฟลชไดรฟ์จะมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับฟลอปปี้ดิสก์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ไวรัสสามารถใช้แฟลชไดรฟ์เป็นสื่อพาหะสำหรับการแพร่กระจายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเวลาใช้งานแฟลชไดรฟ์ คุณควรแน่ใจก่อนว่า เป็นการถ่ายโอนเฉพาะไฟล์ข้อมูลเท่านั้น (ไม่ได้ติดไวรัสมาด้วย)
ประเด็นที่สำคัญก็คือ ควรแน่ใจว่าคุณกำลังเชื่อมต่อแฟลชไดรฟ์กับคอมพิวเตอร์ที่รันซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสที่ได้รับการอัพเดตสม่ำเสมอ และในกรณีที่คอมพ์ของคุณรันแอนตี้ไวรัส เวลาต่อกับแฟลชไดรฟ์ ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสในเครื่องคอมพ์จะสแกนแฟลชไดรฟ์ให้ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจแฟลชไดรฟ์ที่รับมา ก็ไม่ควรเชื่อมต่อเข้ากับคอมพ์ของคุณเด็ดขาด
3. เข้ารหัสข้อมูล เพื่อรักษาความลับ
ถ้าหากแฟลชไดรฟ์ของคุณหาย นั่นหมายความข้อมูลของคุณตกไปอยู่ในมือของผู้ที่พบมันด้วย และถ้าหากคนผู้นั้นบังเอิญเป็นคู่แข่งคุณโดยตรง อะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้น หากคุณใช้แฟลชไดรฟ์เก็บข้อมูลสำคัญ การเข้ารัหสข้อมูลดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
การเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) จะทำให้ข้อมูลเปิดอ่านไม่รู้เรื่องจนกว่าจะได้รับพาสเวิร์ดที่ถูกต้อง ซึ่งควรเลือกเข้ารหัสที่ระดับ 128 บิต เพื่อความปลอดภัย แฟลชไดรฟ์รุ่นใหม่ๆ จะมาพร้อมกับคุณสมบัติการเข้ารหัสข้อมูลมาด้วย แต่อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจนะครับว่า ซอฟต์แวร์ที่ให้มาไม่ใช่รุ่นทดลอง เพราะไม่เช่นนั้น คุณอาจจะต้องจ่ายตังค์ค่าซอฟต์แวร์ในภายหลัง
4. สำรองข้อมูลให้เป็นนิสัย
ไม่ปฏิเสธครับว่า เวลาแฟลชไดรฟ์หาย เราคงรู้สึกไม่ดีแน่นอน แม้ข้อมูลที่อยู่ในนั้นจะได้รับการปกป้องด้วยการเข้ารหัสไว้แล้วก็ตาม แหม…ก็มันต้องเสียเงินอีกแล้วน่ะสิ แต่มันคงรู้สึกเจ็บใจเป็นสองเท่า หากข้อมูลที่อยู่ในนั้นเราไม่เคยได้ทำแบคอัพสำรองเอาไว้เลย
ดังนั้น วิธีที่สุดคือ แนะนำให้คุณสำรองแฟลชไดรฟ์ไว้สักสองสามก็อปปี้ เพราะนอกจากพวกมันจะหายง่ายแล้ว ยังเสียง่ายอีกด้วย เนื่องจากแฟลชไดรฟ์ส่วนใหญ่จะใช้กรอบเป็นพลาสติก ซึ่งแตกหักได้ง่าย
ผมเองขอแถมข้อที่ 5 ไว้อีกข้อนะครับ เป็นข้อที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการถอดแฟลชไดร์ฟออกจากเครื่องอย่างถูกต้อง
เรื่องของเรื่องคือ ก่อนที่คุณจะดึงแฟลชไดรฟ์ออกจากพอร์ตยูเอสบีบนคอมพิวเตอร์ ให้คุณปิดโปรแกรมทุกตัวที่มีการเข้าถึงไฟล์ต่างๆบนแฟลชไดรฟ์เสียก่อน จากนั้นคลิกไอคอน Safely Remove Hardware (ที่มีลูกศรสีเขียวปรากฎอยู่ในมุมล่างขวาบนทาสก์บาร์) แล้วคลิกเลือกแฟลชไดรฟ์ที่ปรากฏอยู่ในรายการ
เมื่อคลิกเลือกยูเอสบีไดรฟ์ที่ต้องการเอาออกแล้ว (รูปบน) จะได้รับข้อความแจ้งขึ้นมาว่า “Safe To Remove Hardware” (รูปล่าง) แปลว่า สามารถดึงแฟลชไดรฟ์ออกจากระบบได้อย่างปลอดภัย
หลายเสียงยืนยันครับว่า หากถอดแฟลชไดร์ฟจากเครื่องปุบปับโดยไม่มีการทำตามขั้นตอนนี้ แฟลชไดร์ฟเจ๊งมานักต่อนักแล้วครับ