คงไม่มีกระแสธุรกิจใดจะมาแรงเท่ากระแสสตาร์ทอัพในเวลานี้ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักมีแต่คนพูดถึงคำว่าสตาร์ทอัพอยู่เสมอ ทุกๆคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เจนวายทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่อยากจะเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ทั้งนั้น และในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกมาป่าวประกาศว่าพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่างๆ แต่ความหมายของสตาร์ทอัพแบบที่เข้าใจกันนั้น เป็นความหมายแบบนั้นจริงหรือ?
อันที่จริงแล้ว สตาร์ทอัพนั้นในนิยามของคนไอทีที่แท้จริง คือบริษัทด้านไอทีหน้าใหม่ หรือที่รู้จักในชื่อของ Tech Start up แต่ในเมืองไทย ความหมายของสตาร์ทอัพนั้นถูกควบรวมไปกับหลายอย่าง เช่นการรวมไปถึงธุรกิจเกิดใหม่ หรือ SME หน้าใหม่ต่างๆด้วย
คนไอทีหลายคนให้คำนิยามสตาร์ทอัพ คือโมเดลธุรกิจแบบหนึ่งที่พยายามตอบโจทย์ หรือนำเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ในธุรกิจ หรือภาคการบริการ ซึ่งช่วยลดภาระให้กับคนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหา และเกิดเป็นนวัตกรรมที่มาจากความคิดสร้างสรรค์
สตาร์ทอัพถูกทำให้เป็นกระแสมากขึ้น จากการที่ภาครัฐพยายามส่งเสริม ดิจิตอล อีโคโนมี่ เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นอกจากสตาร์ทอัพในไทยจะเริ่มก่อตัวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมืองไทยก็ได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของการเข้ามาของสตาร์ทอัพต่างชาติด้วย
ตัวอย่างสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาตลาดไทยในปีนี้ คือ Saleduck เว็บไซต์รวบรวมส่วนลดและคูปองออนไลน์ชื่อดังจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปทั่วยุโรป ก็เพิ่งเริ่มดำเนินการเปิดเว็บไซต์ภาคภาษาไทยในชื่อ www.saleduck.co.th เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดตลาดในประเทศไทยเท่านั้น Saleduck ได้เปิดให้บริการพร้อมกัน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมองว่าตลาดสินค้าออนไลน์ในอาเซียนนั้นกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับรายงานวอลล์สตรีทเจอนัลที่วิเคราะห์ไว้ว่าอินเดีย และอาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า2พันล้านคนกำลังเป็นตลาดออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ เฉพาะเพียงไตรมาสแรกของปี 2016 มีการเข้าลงทุนสูงกว่าไตรมาสแรกในปีที่แล้วถึง5,000ล้านบาท เช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน อย่างเช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีการเข้าลงทุนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึงเท่าตัว
สิ่งเหล่านี้จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นความท้าทายของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย ว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์จากการเติบโตของตลาดออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่